สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนพ.ย.67 อยู่ที่ 93.41 หดตัว 3.58% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการหดตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งการส่งออกและขายในประเทศ หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง และกำลังซื้อผู้บริโภคลดลง ขณะที่มีการทะลักเข้ามาของสินค้าราคาถูก ส่งผลให้ช่วง 11 เดือนปีนี้ (ม.ค.-พ.ย.) ดัชนี MPI อยู่ที่ 96.25 หดตัวเฉลี่ย 1.78%
"ดัชนี MPI ปีนี้น่าจะหดตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะติดลบ 1.6% เพราะผ่านมา 11 เดือนติดลบไปแล้ว 1.78% แต่คงไม่หดตัวมากถึง 2%" นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าว
ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) พ.ย.67 อยู่ที่ 57.60% ส่วนช่วง 11 เดือนปีนี้ (ม.ค.-พ.ย.) เฉลี่ยอยู่ที่ 58.64%
โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตเดือน พ.ย.67 ได้แก่
เครื่องจักรอื่น ๆ ที่ใช้งานทั่วไป ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 24.56% จากผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศ เป็นหลัก ตามอุณหภูมิเฉลี่ยโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมถึงผู้ผลิตบางรายสามารถส่งออกสินค้าที่ผ่านมาตรฐานการรับรองได้หลังติดปัญหาในปีก่อน ประกอบกับทำการพัฒนาสินค้าเพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคมากขึ้น
สัตว์น้ำบรรจุกระป๋อง ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 31.43% จากผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋อง เป็นหลัก ตามความต้องการของคู่ค้าสำคัญอย่างสหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลียที่ขยายตัวต่อเนื่อง รวมถึงการขยายตัวของตลาดใหม่ เช่น ตะวันออกกลาง แอฟริกา และลาตินอเมริกา เป็นต้น
เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย (ยกเว้นร้านตัดเย็บเสื้อผ้า) ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 26.58% จากผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายชั้นนอกและเครื่องแต่งกายชั้นในสตรีและเด็กหญิงทำจากผ้าทอ เป็นหลัก ตามการขยายตัวของตลาดส่งออก หลังมีคำสั่งซื้อจากอเมริกาและยุโรปเพิ่มขึ้นจากมาตรการปกป้องตลาดภายในประเทศของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ประกอบกับค่าเงินบาทอ่อนตัว
ส่วนอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนีผลผลิตเดือน พ.ย.67 ได้แก่
ยานยนต์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 27.21% จากรถบรรทุกปิคอัพ และรถยนต์นั่งขนาดเล็ก และรถยนต์นั่งไฮบริด เป็นหลัก ตามการชะลอตัวของตลาดในประเทศ จากสถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ขณะที่ตลาดส่งออกชะลอตัวตามความต้องการที่ลดลงของประเทศคู่ค้า
น้ำมันปาล์ม หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 34.54% จากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์และน้ำมันปาล์มดิบ เนื่องจากปริมาณผลปาล์มที่ลดลงจากปัญหาภัยแล้ง การจำหน่ายหดตัวทั้งในประเทศและการส่งออกหลังภาครัฐขอความร่วมมือลดปริมาณการส่งออกและปรับสัดส่วนผสมน้ำมันจาก B7 เป็น B5
ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.63% จาก Integrated circuits (IC) และ PCBA เป็นหลัก ตามคำสั่งซื้อที่ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
สำหรับระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทยเดือน ธ.ค.67 "ส่งสัญญาณปกติเบื้องต้น" มีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยปัจจัยภายในประเทศส่งสัญญาณปกติเบื้องต้น เนื่องจากปริมาณสินค้านำเข้าขยายตัว ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและการส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่วนปัจจัยต่างประเทศส่งสัญญาณเฝ้าระวังลดลง จากภาคการผลิตในสหภาพยุโรปที่ขยายตัว เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาเติบโตได้ แต่ยังมีความกังวลต่อนโยบายทางการค้าในอนาคต รวมถึงภาคการผลิตของประเทศญี่ปุ่นยังซบเซา
*อุตสาหกรรมดาวเด่น ปี 68
ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวว่า ในปี 68 มีอุตสาหกรรมดาวเด่นที่มีแนวโน้มเติบโต ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม บรรจุภัณฑ์ ทั้งพลาสติก กระดาษ และโลหะ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับห่วงโซ่การผลิตทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศ และ Hard Disk Drive ที่ผู้บริโภคมีความต้องการกลับมาอีกครั้ง ซึ่งเป็นไปตามโครงสร้างวัฏจักรของสินค้าที่เริ่มหมดอายุรับประกัน อีกทั้งมีความต้องการเพิ่มขึ้นในกลุ่ม Data Centers ทำให้คำสั่งซื้อปรับตัวเพิ่มขึ้น
ขณะที่มีอุตสาหกรรมที่ต้องเร่งปรับตัว ประกอบด้วย ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์สันดาป สิ่งทอ เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก เนื่องจากมีปัจจัยกดดันจากข้อจำกัดเชิงโครงสร้าง การเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยี และการทะลักเข้ามาของสินค้าต่างประเทศ ซึ่ง สศอ.กำลังดำเนินการจัดทำแผนแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้น และจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ราวเดือน ก.พ.68